21_1

วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิธีเลี้ยงปลาทองอย่างถูกต้อง


                   วิธีเลี้ยงปลาทองอย่างถูกต้อง



ปลาทอง เป็นปลาสวยงามอันดับต้น ๆ ที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันอย่างกว้างขวาง เพราะสวยงามและดูมีชีวิตชีวา แถมชื่อยังเป็นมงคลอีกด้วย นักเลี้ยงปลาทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น จึงเลือกเลี้ยงเจ้าปลาชนิดนี้ไว้ดูเล่นกันเป็นจำนวนมาก 

          แม้ว่าปลาทอง จะเป็นปลาสวยงามที่เลี้ยงไม่ยาก แต่หลายต่อหลายคนก็อกหักจากการเลี้ยงปลาทองมาแล้วไม่น้อย เนื่องจากปลาทองจัดเป็นปลาที่ตายได้ง่าย ๆ หากไม่รู้วิธีการเลี้ยงอย่างถูกต้อง และวันนี้เรามีคำแนะนำดี ๆ ในการเลี้ยงมาฝากกัน
 การซื้อปลาทอง
+ ปลาทองตัวผู้กับตัวเมียจะมีข้อแตกต่างกัน ที่ดูไม่ยากมากก็คือรูปร่างครับ ปลาตัวผู้มักจะผอมกว่าตัวเมีย(นิดนึง) แต่ถ้าจะดูเจาะลึกกว่านั้นก็ดูที่ครีบ ครีบหน้าหรือเรียกว่ามือของน้องปลา ตัวผู้จะสากกว่า ซึ่งการจะขอจับมือน้องปลานั้นออกจะยากอยู่ ถ้าส่องเอาก็ให้ดูจะมีเม็ดขาวๆเม็ดๆที่มือน้องปลา แต่ตัวเมียจะไม่มี และไม่สาก อีกที่คือดูที่ก้นน้องปลา แต่อันนี้ไม่แนะนำ 




+ ถ้าใครคิดจาเลี้ยงปลาทองแล้วหวังจะให้เค้ามีลูก ขอให้พับความหวังเหลือสัก 5% เพราะยากมากครับเลี้ยงมาหลายรุ่น สิบกว่าปีได้แล้ว ก็ยังไม่เคยทำให้น้องปลามีลูกได้ เพราะฉะนั้นสำหรับคนที่อยากเลี้ยงปลาทอง และไม่คิดจะพยายามให้เค้ามีลูกอย่างจริงจัง แนะนำว่าให้เน้นเลี้ยงตัวผู้ดีกว่าตัวผู้ปัญหาน้อยกว่า 

+ ตัวเมียเนี่ยลักษณะเค้าจะกลมอยู่แล้ว แล้วถ้าเค้าอ้วนเกินไป เค้าก็จะหงายครับ พอหงายบ่อยๆ ก็จะเริ่มหงายถาวร ไม่ใช่ตายนะแต่ว่ายกรรเชียง แล้วพอท้องพ้นน้ำ ท้องเค้าก็จะเป็นแผล (เวลาหงายแล้วจะมักลอยอยู่ผิวน้ำตลอด) แถมตัวเมียจะมีระยะตกไข่ เป็นประจำ ซึ่งพอมีไข่ในท้อง ธรรมชาติตัวผู้จะต้องไล่เพื่อให้ไข่ในท้องปล่อยออกมา จะสังเกตุได้จากปลาตัวผู้จะเอาปากไปไล่ดุนก้นตัวเมีย แล้วไข่ก็จะหลุดออกมา แต่บางทีเราไม่เห็นไข่ เพราะปลาทองเก็บกินหมด แต่ไม่ต้องตกใจครับ ไข่ทีเพิ่งหลุดออกมานี้ ยังไม่เป็นตัว ไข่จะเป็นตัวได้คือ มันจะต้องรอดจากการถูกกิน ไปเกาะๆอยู่ตามที่ต่างๆ แล้วรอตัวผู้ไปฉีดน้ำเชื้อ ถึงจะมีโอกาสเป็นไข่ปลาที่มีชีวิตซึ่งปัญหาสำคัญของปลาทองตัวเมียก็คือเรื่องนี้

+ ถ้าตัวผู้น้อยเกินไป หรือไม่มีตัวผู้ ไข่ในท้องตัวเมียจะออกมาไม่หมด ค้างแล้วก็จะเน่า ทำให้น้องปลาป่วย และอาจจะตายในที่สุดครับวิธีรักษามี แต่ยุ่งยาก เสี่ยง และต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทำดังนั้นขอแนะนำให้ป้องกันด้วยการเลี้ยงตัวผู้เยอะหน่อย สัดส่วนก็ตัวผู้ 2 ตัว ต่อตัวเมีย 1 ตัว เน้นเลี้ยงตัวผู้แต่อย่าเยอะเกินไปนะครับตัวเมียจะถูกไล่จนเหนื่อยเกินไป จะไม่ไหวเอานะครับ

+ ซื้อปลาทองจากร้านที่มีมาตรฐาน ปลาทองเกรดที่ใช้ได้ขึ้นไป ก็จะตัวประมาณ200อัพ แต่ไม่ใช่ว่าถูกกว่านี้จะไม่มีปลาดีๆน่ะครับ แต่โอกาสจะได้ปลาดีเนี่ย มันเสี่ยงเยอะกว่าปลาร้านดีๆมากแล้วก็ปลาใหม่อาจจะนำโรคมาให้ปลาเก่า ขอยืนยันนะครับว่าถึงจะดูดีแล้วแค่ไหน ปลาที่ซื้อมาก็อาจจะมีโรคแฝงได้ เพราะเคยประสบมาเองครับ ซื้อปลาตามลักษณะที่ดีทุกประการ แต่สุดท้ายเค้าก็มีโรคติดมาจนได้ นานๆครั้งจะโชคดี ซื้อปลาถูก และไม่ป่วยมาได้ 

+ ที่สำคัญถ้าซื้อมาแล้วเค้าป่วยอย่าทอดทิ้งเค้านะครับแยกออกมาจากเพื่อนๆกันเค้าติดกัน แล้วรักษาอย่างถูกต้องให้ดีที่สุด ถ้าเค้าหายแล้ว เราก็สามารถให้เค้ากลับไปอยู่กับเพื่อนๆในตู้เหมือนเดิมได้

+ อีกข้อคือ อันนี้ได้ความรู้มาจากพี่เอก คลองขวางครับว่าปลาทองก็เหมือนเด็กนี่ล่ะครับ ต้องมีการป่วย มีการสร้างภูมิคุ้มกันก่อน พี่เค้าบอกว่าปลาทุกตัวที่เพาะมา เค้าต้องรอให้มันป่วยครั้งแรกก่อนรักษาให้หายจึงออกมาขายได้ ปลาที่ยังไม่เคยป่วย ไม่มีการรักษาให้เกิดภูมิคุ้มกันก่อนแล้วออกมาขายเลย โอกาสตายมีสูงมาก ดังนั้นก่อนซื้อถามคนขายให้ดีๆ ว่าเค้าเป็นปลาทีเคยป่วยและมีภูมิแล้วใช่ไหม ถ้าคนขายทำหน้างงๆ ก็อยากให้เลี่ยงๆไปดูร้านอื่นก่อนแล้วกันครับ

+ เราควรซื้อปลาจากร้านที่คนขายเชี่ยวชาญการเลี้ยงจริงๆนะครับ เพื่อเราจะได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง

+ หวังว่าคงจะพอเป็นประโยชน์ต่อท่านที่กำลังสนใจเลี้ยงปลาเริ่มต้นได้บ้างน่ะครับ....กว่าผมจะพอมีความรู้ก็ต้องผ่านการเลี้ยงๆล้มๆลุกๆตายบ้างรอดบ้าง หาความรู้จากหนังสือจากผู้รู้เพิ่มบ้างบางทีปลาป่วยเป็นโรคตายแล้วติดต่อกันลามไปตายถึงตัวอื่นๆทำเอาท้อแท้ใจเหมือนกันครับ...แต่เราเลี้ยงเขาแล้วเขาก็ให้ความสุขเราได้น่ะครับเวลามองก็ชื่นใจดีเวลาเหนื่อยๆ




นักเลี้ยงปลาทองส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงในตู้มากกว่า ภาชนะอย่างอื่น เพราะนอกเหนือจากความงดงามอ่อนช้อยของปลาทองแล้ว ยังสามารถตกแต่งตู้ปลาให้สวยงามเป็นเครื่องประดับบ้านโชว์แขกที่มาเยี่ยมเยือนได้เป็นอย่างดี
   การเลี้ยงปลาทองในตู้จะต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าดังต่อไปนี้
เลือกสถานที่ 
   ก่อนซื้อตู้ปลา ควรกำหนดจุดหรือบริเวณภายในบ้านหรืออาคารสำหรับเป็นที่ตั้งตู้ปลาเสียก่อน วัดขนาดความกว้างความสูงของสถานที่ ให้แน่นอนแล้วจึงไปหาซื้อตู้ที่มีขนาดพอเหมาะกับสถานที่ตั้ง 
   จุดที่เหมาะสำหรับตั้งตู้เลี้ยงปลาทองควรเป็นที่อากาศถ่ายเทสะดวกถ้าได้ที่มีแสงแดดตอนเข้าส่องถึงจะดีมาก เพราะแสงแดดยามเช้าจะทำให้สีของปลาเข้มขึ้น ตรงกันข้ามกับแสงแดดยามบ่ายจะทำให้สีของปลาจางลงนอกจากนั้นแล้วจุดตั้งตู้เลี้ยงปลาควรอยู่ตรงที่สามารถขับถ่ายน้ำได้สะดวก 
ตู้เลี้ยงปลา
   ตู้เลี้ยงปลาทองควรพิจารณาเลือกตู้ที่มีรูปทรงและขนาดให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่เลือกไว้ อย่างไรก็ตามขนาดของตู้ไม่ควรเล็กเกินไปถ้าต้องการจะตกแต่งตู้ด้วยพรรณไม้น้ำและวัสดุอย่างอื่นเช่นก้อนหิน หรือขอนไม้
   ตู้เลี้ยงปลาปัจจุบันนิยมใช้กันอยู่ 2 ชนิด คือ ตู้ที่ทำด้วยแผ่นกระจก และตู้ที่หล่อขึ้นจากอะคริลิกใส ตู้กระจกมีข้อดีตรงที่ไม่เป็นรอยขีดข่วนง่ายเวลาทำความสะอาด แต่เสียตรงที่มีน้ำหนักมาก เคลื่อนย้ายลำบาก และมีรอยต่อตรงมุมตู้ส่วนตู้อะคริลิกมี่ข้อดีตรงที่มีความใสมากกว่าแผ่นกระจก ไม่มีรอยต่อตรงมุมตู้น้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่น แต่มีข้อเสียที่ราคาแพง เกิดรอยขีดข่วนง่ายและถ้าเป็นอะคริลิกคุณภาพต่ำเมื่อใช้ไปนาน ๆ  จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองชาด้วยเหตุนี้ตู้กระจกจึงยังได้รับความนิยมมากกว่า
 เลี้ยงในจำนวนที่เหมาะสม โดยดูจากภาชนะที่ใช้เลี้ยง ตู้ที่นิยมเลี้ยงส่วนมากเป็นตู้ขนาด 60 ซ.ม. ( 24 นิ้ว ) จะใช้เลี้ยงปลาทองที่มีความยาว 3-4 ซ.ม. ประมาณ 7-8 ตัว และควรติดตั้งแอร์ปั้ม เพื่อเป็นการเพิ่มอากาศ ในตู้ปลา ถ้าหากแอร์ปั้มมีขนาดใหญ่ ตู้ปลาขนาด 60 ซ.ม. จะสามารถเลี้ยงได้ถึง 15-20 ตัว แต่ต้องคำนึงถึงระบบกรองน้ำด้วย เพราะปลายิ่งมากน้ำก็จะยิ่งสกปรกเร็ว

การจัดเตรียมตู้ปลา
   ตู้ปลาที่ซื้อมาใหม่จะต้องล้างทำความสะอาดแล้วใสน้ำแช่ทิ้งไว้ 2-3 วัน ระหว่างที่ใสน้ำแช่ไว้ควรตรวจสอบดูว่ามีการรั่วซึมที่ใดบ้างหรือเปล่าถ้ามีก็จัดการซ่อมแซมให้เรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้นถ่ายน้ำที่แช่ไว้ออกให้หมด เช็ดให้แห้งแล้วนำไปวางเข้าที่ที่เตรียมไว้ การเคลื่อนย้ายตู้ปลาควรใช้มือช้อนเข้าไปในตู้แล้วยก อย่าจับขอบด้านบนแล้วยกเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้แผ่นกระจกด้านข้างโย้ไปมาจนกาวยึดรอยต่อเกิดการรั่วซึมหรือฉีกขาดได้

เตรียมแผ่นกรอง
   แผ่นกรองก่อนนำมาใช้จะต้องทำความสะอาดเสียก่อนเนื่องจากแผ่นกรองทำด้วยพลาสติกที่ใช้สารเคมีในขบวนการผลิต ถ้าไม่ล้างออกให้หมดอาจเป็นอันตรายต่อปลา จากนั้นนำแผ่นกรองประกอบเข้ากับท่อระบายอากาศ ต่อสายยางจากปั้มลมเข้ากับท่อลมข้างท่อระบายอากาศ แล้วเอาแผ่นกรองวางแนบกับพื้นตู้
เตรียมพื้นตู้
   วัสดุที่ใช้ปูพื้นตู้โดยมากนิยมใช้ทรายหยาบหรือกรวดขนาดเล็ก ไม่ควรใช้ทรายละเอียด เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการกรองลดลงตกตะกอนและเศษของเสียยังตกค้างอยู่บนพื้นผิวทราย เป็นสาเหตุให้น้ำขุ่น สำหรับปลาทองซึ่งเป็นปลาที่ชอบคุ้ยหาอาหารที่พื้นจึงควรใช้กรวดขนาดใหญ่ขึ้นมาหน่อย หรือขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร และควรเลือกกรวดที่ไม่มีเหลี่ยมแหลมคมและปราศจากเศษเปลือกหอย ป้องกันปลาทองบาดเจ็บเมื่อว่ายไปชน 
   ก่อนนำกรวดมาใช้ปูพื้นตู้ปลาจะต้องล้างให้สะอาดจนหมดเศษดินแล้วแช่น้ำทิ้งไว้ 2-3 วันเพื่อกำจัดความเค็มที่อาจติดมากับกรวดถ้าจะให้ดีก็ควรเอากรวดมาลวกน้ำร้อนในถังแช่ทิ้งไว้ประมาณ  10-15 นาที เพื่อให้น้ำร้อนแทรกซึมเม็ดกรวดได้ทั่วถึง แล้วจึงนำมาล้างน้ำเย็นให้สะอาดก่อนนำไปใช้
   นำกรวดที่ล้างสะอาดแล้วไปเทใส่ตู้กลบทับแผ่นกรองให้มิดและหนาอย่างน้อย 3 นิ้ว ที่นิยมกันมากจะปูพื้นให้ระดับกรวดด้านหลังตู้สูงกว่าด้านหน้า พื้นกรวดที่มีลักษณะเอียงลาดแบบนี้เมื่อนานไป กรวดที่อยู่ระดับสูงจะเลื่อนไหลลงมาอยู่ที่ระดับเดียวกันเป็นพื้นราบ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาควรหาอะไรมากั้นดักเอาไว้เป็นช่วง ๆ 


ขั้นตอนการเตรียมตู้ปลา
1. ใส่กรวดทับลงไปบนแผ่นกรอง
2. เกลี่ยกรวดให้เต็มพื้นตู้
3. ปรับระดับชั้นกรวดสูงต่ำตามต้องการ
4. ตกแต่งด้วยก้อนหิน ขอนไม้ ตามชอบ
5. ใส่น้ำโดยใช้พลาสติกหรือชามรองกันทรายกระจายขึ้นมา
6. ถ้าต้องการตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้น้ำใส่น้ำลงไปประมาณ 1 ใน 3 ก่อน
7. เริ่มปลูกต้นไม้น้ำที่เป็นฉากหลังก่อน
8. ปลูกต้นไม้น้ำระดับกลางตู้
9. ปลูกต้นไม้น้ำขนาดเล็กไว้ด้านหน้าตู้
10. หลังจากปลูกต้นไม้น้ำหมดแล้วให้ถ่ายน้ำทิ้ง
11. ใส่น้ำสะอาดไปให้เต็มตู้แล้วช้อนเศษใบและกิ่งก้านไม้น้ำที่ลอยอยู่ในน้ำออกให้หมด
12. ตู้ที่จัดเสร็จแล้วแต่น้ำยังขุ่นอยู่ ต้องรอให้น้ำใสเสียก่อนจึงค่อยปล่อยปลาลงไปเลี้ยง



การตกแต่ง
   อุปกรณ์สำหรับตกแต่งตู้เลี้ยงปลาทองต้องเลือกวัสดุที่ไม่มีเหลี่ยมคมไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน หรือขอนไม้และที่ไม่ควรใช้อย่างยิ่งคือ ปะการัง ซึ่งมีแง่แหลมคมมากมายเป็นอันตรายต่อปลาทอง อุปกรณ์ตกแต่งทุกชิ้นจะต้องผ่านการล้างทำความสะอาดเสียก่อนจึงค่อยนำไปใช้



การใส่น้ำลงไปในตู้
   ก่อนใส่น้ำลงไปในตู้ปลาควรเอาพลาสติกอ่อนคลุ่มพื้นตู้หรือเอาชามไปวางไว้ก้นตู้กันกรวดกระจายเพราะแรงน้ำ เมื่อใส่น้ำลงไปในตู้ครั้งแรกจะขุ่นขึ้นมาทันทีควรถ่ายทิ้งแล้วเติมน้ำใหม่ลงไปถ้าต้องการจะตกแต่งด้วยพรรณไม้น้ำก็ทำเสียตอนนี้ แต่ควรทราบไว้อย่างหนึ่งว่า ปลาทองส่วนใหญ่ชอบกัดทำลายพืชน้ำ หากต้องการให้ภูมิทัศน์ในตู้ปลามีสีสันของพรรณไม้น้ำขอแนะนำว่าควรใช้ต้นไม้น้ำประดิษฐ์มาตกแต่งแทน 
   หลังจากตกแต่งด้วยพรรณไม้น้ำแล้วหากน้ำขุ่นมากก็ถ่ายออกแล้วเติมน้ำใหม่ลงไป พร้อมกันนี้ก็เปิดเครื่องปั๊มลมเพื่อเติมออกซิเจนให้กับน้ำและให้ระบบการกรองเริ่มทำงานทันที
   น้ำที่เหมาะสมสำหรับใช้เลี้ยงปลาในตู้มากที่สุด คือ น้ำประปา เนื่องจากผ่านการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนมาแล้วจึงมั่นใจได้ว่าไม่เป็นพาหะนำเชื้อโรค มาแพร่สู่ปลาที่เลี้ยง น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นน้ำจากบ่อ แม่น้ำ คลอง  บึง ไม่เหมาะจะเอามาใช้เลี้ยงปลาทองเพราะเสี่ยงต่อจุลินทรีย์ที่ปะปนมากับน้ำซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อปลา


วิธีกำจัดสารคลอรีนในน้ำประปา
   การกำจัดสารคลอรีนในน้ำประปาสามารถทำได้หลายวิธี เช่น เอาน้ำประปาไปพักไว้ในภาชนะสำหรับกักเก็บน้ำ เช่น ตุ่ม ถัง หรือแม้แต่ตู้ที่จะเลี้ยง ปลาเป็นเวลาประมาณ 1-2 วัน เพื่อให้คลอรีนระเหยไปจนหมด ระหว่างการพักน้ำหากเป่าอากาศลงไปด้วยก็จะช่วงเร่งคลอรีนให้ระเหยเร็วยิ่งขึ้น
   วิธีกำจัดคลอรีนออกจากน้ำประปาที่สะดวกที่สุดก็คือ เปิดน้ำประปาผ่านเข้าไปในเครื่องกรองน้ำแล้วเอาน้ำที่ออกมาไปใช้เลี้ยงปลาได้เลย เนื่องจากเครื่องกรองน้ำมีผงถ่านคาร์บอน  
(Activated carbon)  ซึ่งมีคุณสมบัติในการดูดซับคลอรีน สี และ กลิ่นต่างๆ ที่ละลายอยู่ในน้ำทำให้น้ำที่ออกมาใสสะอาดปราศจากสีและกลิ่น
   การกำจัดคลอรีนออกจากน้ำประปาอีกวิธีหนึ่งคือ การใช้สารกำจัดคลอรีน สารที่มีว่านี้มีชื่อทางเคมีว่า "โซเดียมไธโอซัลเฟต"  
(soudiumthio-sulfate) การใช้สารกำจัดคลอรีนต้องทำตามคำแนะนำในฉลากข้างภาชนะบรรจุโดยเคร่งครัด ถ้าใช้มากเกินไปตัวสารกำจัดคลอรีนเองจะกลับมาเป็นอันตรายต่อปลาที่ปล่อยลงไปเลี้ยงได้

การปล่อยปลาลงตู้
   ก่อนปล่อยปลาลงตู้เลี้ยงควรสังเกตดูว่าน้ำสะอาดดีแล้วหรือยัง การปล่อยปลาลงตู้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยที่จะมองข้าม นักเลี้ยงปลาตู้ถือเป็นขั้นตอนสำค้ญที่สุดของการเลี้ยงปลาหากไม่รู้เทคนิคปลาอาจตายหรือไม่ยอมกินอาหารสาเหตุเนื่องจากความแตกต่างของสภาพน้ำในตู้กับสภาพน้ำในถุงปลาที่ซื้อมา
การให้อาหารปลาทอง
   ปลาทองกินอาหารได้ทั้งที่เป็นพืชและสัตว์ และทั้งที่เป็นอาหารธรรมชาติและอาหารสำเร็จรูป
อาหารประเภทพืช 
    ได้แก่ สาหร่าย แหนเป็ด และผักต่างๆ อาหารเหล่านี้เป็นตัวเสริมสร้างวิตามิน บางชนิดมีประโยชน์ทำให้สีของปลาเข้าขึ้น อย่างเช่นสาหร่ายสไปรูลิน่า  ซึ่งปัจจุบันผลิตออกมาในรูปอาหารสำเร็จรูป นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย อาหารพืชจากธรรมชาติได้แก่  แหนเป็ด หรือผัก
   อาหารประเภทสัตว์ 
   ได้แก่  ลูกน้ำ ไรแดง 
(Moina) ไรน้ำตาล (Artemia)  หนอนแดงและไส้เดือนน้ำ  สิ่งที่มีชีวิตเหล่านี้อุดมไปด้วยโปรตีน สารประของกรดอะมิโนที่ช่วยให้ปลามีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว มีความสมบูรณ์ทางเพศดี
   อีกปัญหาหนึ่งสำหรับอาหารปลาทองที่มีชีวิต คือ การเก็บรักษาอาหารให้สดอยู่ตลอดเวลา ซึ้งอาหารแต่ละชนิดก็มีวิธีเก็บรักษาที่แตกต่างกันไป คือ
    ลูกน้ำ  มีปัญหาที่ลูกน้ำกลายเป็นยุงมารบกวนสมาชิกในครอบครัวการเก็บรักษาลูกน้ำที่ถูกต้องคือ นำภาชนะที่ใช้เก็บลูกน้ำไปตั้งไว้นอกบ้านที่ไม่โดนแดด เติมน้ำลงไปให้ระดับน้ำเสมอขอบปากภาชนะ ใช้มุงลวดกันยุงปิดทับโดยใช้มุงลวดสัมผัสกับผิวน้ำโดยตลอดไม่เหลือที่ว่าง โดยธรรมชาติแล้วลูกน้ำก็กลายเป็นยุงจะอยู่ในน้ำต่อไปอีกไม่ได้
   ไรแดง  มีปัญหาเรื่องการตายเพราะขาดออกซิเจน ปกติไรแดงจะลอยตัวเป็นกลุ่มอยู่ที่ผิวน้ำ ตัวที่ตายแล้วสีจะซีดจนเป็นสีขาวและจมลงสู่ก้นภาชนะ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้น้ำเน่าเสียมีกลิ่นเหม็นไรแดงที่ตายจนเน่าแล้วถ้าเอาไปให้ปลากินปลาจะท้องเสีย  เพราะฉะนั้นเวลาเอาไรแดงไปให้ปลากินควรช้อนที่ผิวน้ำเบา ๆ ป้องกันไม่ให้ไรแดงตาย
   ไรน้ำตาล   บางทีเรียกไรทะเลเป็นสัตว์น้ำเค็ม
การให้อาหาร การกินอาหารมากเกินไป ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการทำให้ปลาเสียการทรงตัว ดังนั้นการให้อาหารทีละน้อยๆ จึงเป็นเรื่องที่ดี ถ้าให้อาหารมากเกินไป ปลากินไม่หมดหรือกินไม่ทั่ว เศษอาหารที่จมลงพื้นตู้ หรือก้นบ่อ จะเริ่มทำให้น้ำสกปรก และอาการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ก็จะเริ่มตามมา โดยจะเห็นได้ชัดในช่วงหน้าหนาว

คุณภาพของน้ำ

          น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด น้ำประปาที่ใช้เลี้ยงต้องระวังคลอรีน ควรเตรียมน้ำก่อนนำมาใช้เลี้ยงปลาทุกครั้ง โดยเปิดน้ำใส่ถังเปิดฝาวางตากแดดทิ้งไว้เพื่อให้คลอรีนระเหย หรืออาจติดตั้งเครื่องกรองน้ำใช้สารเคมีโซเดียมไธโอซัลเฟตละลายลงในน้ำ มีคุณสมบัติในการกำจัดคลอรีน แต่ควรดูสัดส่วนในการใช้ เพราะสารเคมีพวกนี้มีผลข้างเคียงต่อปลาหากใช้ไม่ถูกวิธี  
  1. ระวังเรื่องคุณภาพน้ำที่แย่ลง และควรจะเปลี่ยนน้ำใหม่เมื่อเจอสภาพน้ำดังนี้
    • น้ำที่ขาวขุ่น
    • เกิดเป็นฟองขาวขึ้น ไม่ยอมแตกหายไป
    • ปลาทั้งหมดพร้อมใจลอยเชิดจมูกอยู่ตามผิวน้ำ
    • น้ำเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่นอย่างกะทันหัน อาจเพราะแบคทีเรีย หรือแอมโมเนียในน้ำสูงเกินไป
ลองทำตามคำแนะนำดูนะคะ ถ้าอ่านแล้วงง ง่ายสุดๆ คือการทำความสะอาดตู้ปลาบ่อยๆ
อากาศหรือออกซิเจนในน้ำ 

          ปลาทองส่วนใหญ่เคยชินกับสภาพน้ำที่ต้องมีออกซินเจน ดังนั้น อย่างน้อยในภาชนะเลี้ยงต้องมีการหมุนเวียนเบา ๆ ไม่ว่าจะผ่านระบบกรองน้ำ น้ำพุ น้ำตก หรือปั๊มน้ำ เพราะการหมุนเวียนของน้ำ เป็นการทำให้เกิดการเติมออกซิเจน และปลาทองขนาดใหญ่ย่อมต้องการออกซิเจนมากกว่าปลาเล็ก ส่วนเรื่องอุณหภูมิของน้ำที่เหมาะสมคือ 28-35 องศาเซลเซียส แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการรักษาอุณหภูมิของน้ำไม่ให้เปลี่ยนแปลงขึ้น-ลงอย่างรวดเร็ว หากซื้อปลาบรรจุถุงมา เวลาจะปล่อยปลาลงในอ่างเลี้ยง ควรแช่ถุงลงในอ่างเลี้ยง 10-15 นาที เพื่อให้อุณหภูมิของน้ำในถุงกับในอ่างถ่ายเทเข้าหากันจนใกล้เคียงกัน แล้วค่อยปล่อยปลาลงไป

          การเลี้ยงปลาทอง ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ใส่ใจกับภาชนะเลี้ยง สภาพน้ำ การให้อาหาร และหมั่นสังเกตเจ้าปลาตัวโปรดของคุณอย่างสม่ำเสมอ ก็จะได้ปลาทองสวย ๆ ไว้เชยชมไปนาน ๆ 


 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น